#ประวัติโรงพยาบาล

ประวัติ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

ภายใต้สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

- เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็งขนาด 126 เตียง ตั้งอยู่เลขที่ 139 ถนนรังสิต-นครนายก กิโลเมตรที่ 25 ตำบลบึงสนั่น อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ เดิมเรียกว่า "สถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี"

- ผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (นายแพทย์สมชาย สมบูรณ์เจริญ) มีความคิดริเริ่มให้ จัดโครงการบ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น การรักษาอาจต้องต่อเนื่องและใช้เวลานาน ทำความลำบากให้กับผู้ป่วยเพราะเตียงที่สามัญมีจำกัดและไม่เพียงพอในการรองรับ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีที่พัก ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นสถานที่ฟื้นฟู สภาพร่างกายและจิตใจ จึงได้เสนอโครงการบ้านพักผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี ต่อกรมการแพทย์ และได้รับความช่วยเหลือจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดหาที่ดินราชพัสดุขนาดเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ เพื่อก่อสร้างเป็น “บ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี”

- ปี พ.ศ.2531 ได้เปลี่ยนชื่อจาก “บ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี” เป็น “สถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ธัญบุรี” มีฐานะเป็นฝ่ายหนึ่งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการขุดคู ถมคลอง และสร้าง ถนนเพิ่มเติม และก่อสร้างอาคารหลังที่2 (อาคารบำบัด 2) อาคารโภชนา อาคารซักฟอก อาคารพยาธิ และ บ้านพักเจ้าหน้าที่ และจัดให้มีวันปลูกต้นไม้ขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2534 เพื่อให้ความร่มรื่นและ เป็นธรรมชาติ

- ปี พ.ศ.2537 ได้จัดทำโครงการสถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี – สายใยชีวิตขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการจัดสร้างศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจแห่งแรกของประเทศ และเป็น การร่วมเฉลิมฉลองศุภวาระ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539

- ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 สิงหาคม 2538 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งในขณะนั้น ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดเกล้ารับเป็นองค์ประธาน โครงการสถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี-สายใยชีวิต และพระราชทานนามใหม่ว่า “โครงการกาญจนบารมี เฉลิมพระเกียรติครองสิริราชสมบัติ 50 ปี” และเสด็จวางศิลาฤกษ์อาคารวิปัสสนา ฟังธรรม พร้อม พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ศาลาธรรมานุภาพ” เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2539 และทรงพระราชทานเงินในการ ก่อสร้างอาคารต่างๆของโครงการกาญจนบารมีเป็นเงิน 462 ล้านบาท โดยการสนับสนุนของสำนักงานสลาก กินแบ่งรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบต่อเนื่อง ด้วยวิธีรังสีรักษา และเคมีบำบัด ให้การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และเป็นสถานที่พักสำหรับผู้ป่วยที่มารอ ตรวจวินิจฉัยและรอรับการรักษา รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง

- ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2543 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในขณะ ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน นามอาคารต่างๆ ดังนี้
1. สถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี พระราชทานนามว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี”
2. อาคารผู้ป่วย 9 ชั้น พระราชทานนามว่า “กาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติครองสิริราชสมบัติ 50 ปี”
3. อาคารอำนวยการ พระราชทานนามว่า “พัชรกิติยาภา”
4. สวนสมุนไพร พระราชทานนามวา่ “สิริวัณวรี”

- วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544 พระราชทานนามอาคารบำบัดทั้ง 2 อาคาร ดังนี้
1. อาคารบำบัดบำบัด 1 พระราชทานนามว่า “บดินทรเทพยวรางกูร”
2. อาคารบำบัดบำบัด 2 พระราชทานนามว่า “สิริกิติยสมบูรณ์ สวางควัฒน์”

และทรงเสด็จพระราชดำเนิน เปิดศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2544

ปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรีเปิดให้บริการทั้งการบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ดังนี้ 1. อาคารกาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติฯ
: เป็นอาคารหลักที่เปิดให้บริการทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
2. อาคารบดินทรเทพยวรางกูร
: เป็นอาคารชั้นเดียว ให้บริการดูแลและเตรียมความพร้อมผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและ ครอบครัว แบบผู้ป่วยใน จำนวน 10 เตียง โดยใช้ชื่อว่า หออภิบาลคุณภาพชีวิต (Quality of life care unit : QCU)
3. อาคารสิริกิติยสมบูรณ์สวางควัฒน์
: เปิดให้บริการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งการตรวจวินิจฉัยและการรักษาทาง เวชศาสตร์นิวเคลียร์มีห้องรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่มารับการรักษาด้วยการกลืนไอโอดีน -131 แบบผู้ป่วยใน จำนวน 8 ห้อง

  • วิศัยทัศน์ (Vision)

    ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 4 ได้รับบริการสุขภาพด้านโรคมะเร็งที่มีคุณภาพเป็นเลิศด้วยความเสมอภาค และความปลอดภัย

  • พันธกิจ

    1. ศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่าด้านโรคมะเร็ง

    2. พัฒนาบริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งที่เชี่ยวชาญและซับซ้อนอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยความเสมอภาค โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

    3. สร้างและพัฒนาเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วม(Co-creation) ทางด้านวิชาการและบริการด้านโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 4 และองค์กรวิชาชีพ

  • บริการหลัก

    1. การบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้านรังสีรักษาและเคมีบำบัด (ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งระบบโลหิตวิทยา)

    2. การบริการตรวจรังสีวินิจฉัยและตรวจรักษาทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

    3. การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายแบบประคับประคอง

    4. การบริการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก

#ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี

ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการปัจจุบัน

นายแพทย์สมชาย สมบูรณ์เจริญ
ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ผู้ก่อตั้งบ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี
นายแพทย์ธนเดช สินธุเสก
ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
(26 กุมภาพันธ์ 2546 - 30 กันยายน 2561)
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ
ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
(1 ตุลาคม 2561 - 8 เมษายน 2564)
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์
ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
(9 เมษายน 2564 - 30 กันยายน 2564)
นายแพทย์ชำนิ จิตตรีประเสริฐ
ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
(1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2565)
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง
ผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
(1 ตุลาคม 2565 - ปัจจุบัน)